วิธีถ่ายภาพ ชัดลึก - ชัดตื้น (Depth of field)
จากวีดีโอแรกๆ เลยที่ได้สอนเรื่อง
การปรับค่า F เพื่อดีไซน์ภาพ ยังจำกันได้มั้ยคะ ชัดลึก ชัดตื้น มาทบทวนกันหน่อยดีกว่าเนอะ
ค่า F มาก หรือ รูรับแสงแคบ จะได้ภาพชัดลึก (ชัดทั้งภาพ)
*** Note: ในวีดีโอพูดว่า F8 เท่านั้น ขอแก้ไขเป็น F8-F16 นะคะ เพราะความชัดลึกขึ้นอยู่กับ Spec ของเลนส์ค่ะ
ค่า F น้อย หรือ รูรับแสงกว้าง จะได้ภาพชัดตื้น (หน้าชัดหลังเบลอ หน้าเบลอหลังชัด คือชัดเฉพาะส่วนที่เราโฟกัสนั่งเอง)
สำหรับเนื้อหาในวันนี้ จะบอกว่า
เมื่อไรเราควรใช้ชัดลึก เมื่อไรควรใช้ชัดตื้น เอาแบบมาตรฐานทั่วไป ไม่ต้องคิดมาก ถึงเวลาเจอสถานการณ์ก็หยิบมาใช้งานได้เลย รู้เลยว่า เจอแบบนี้ถ่ายชัดลึกซะ เจอแบบนั้นถ่ายชัดตื้นสิ โดยเฉพาะเวลาไปท่องเที่ยว แล้วเราอาจจะไม่ได้มีละเลียดมากนักกับการถ่ายภาพ (นอกจากว่า การท่องเที่ยวนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อไปฝึกถ่ายภาพจริงๆ)
ชัดลึก
เป็นสไตล์ภาพที่ตรงตามชื่อมากๆ คือ สิ่งที่อยู่ใกล้กล้องก็ชัด สิ่งที่อยู่ไกลที่สุดจากกล้องก็ชัด ชัดตั้งแต่ด้านหน้า ลึกไปถึงด้านหลังเลย ก็คือชัดทั้งภาพนั่นแหล่ะ
ใช้เมื่อไร ??
ส่วนใหญ่ จะใช้สำหรับการถ่ายภาพ Landscape พวกภาพวิว ทิวทัศน์ ภาพธรรมชาติ สถานที่ต่างๆ หรือการเก็บบรรยากาศให้เห็นภาพรวม จะไม่ได้เน้นอะไรเป็นพิเศษ (แต่ก็ยังมีพระเอกของภาพนะ)
ค่า F เท่าไร เรียกว่า ชัดลึก ??
F8-F16 (ขึ้นอยู่กับ Spec ของเลนส์) คือ ค่า F ที่ชัดลึกที่สุดแล้ว หลังจากนั้นขึ้นไป จะชัดลึกเท่ากัน....
อ้าว แล้ว F สูงๆ เอาไว้ทำอะไรล่ะ ทำไมไม่ทำออกมาแค่ F16 ก็พอละฮึ ?? เพราะว่า เค้าต้องการให้ Speed Shutter มันช้าได้มากขึ้นค่ะ จำได้ใช่มั้ยคะ หลักการเดิมๆ ค่า F สูง หรือรูรับแสงแคบ Speed Shutter จะช้า เพื่อเปิดม่านชัตเตอร์รับแสงได้นานๆ ภาพที่ได้ อย่างเช่น ภาพน้ำตก ที่น้ำมจะขาวฟู นวลเป็นยองใย นั่นแหล่ะ เค้าจะใช้วิธีนี้กัน (ดูตัวอย่างภาพ
คลิกที่นี่) ดังนั้นจะ ตั้งให้มันสูงไปกว่า F16 มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าเราไม่ได้จะใช้ประโยชน์จาก Speed Shutter ช้าๆ
ต่อไปนี้จะเป็นตัวอย่างภาพชัดลึก ใช้เลนส์ 10-22 ซึ่งตั้งค่าไว้ที่ F8 Speed Shutter ตามที่กล้องกำหนดให้ในโหมด AV และ ISO 100
เก้าโฟกัสไปที่เจดีย์สีทอง
ถ้าสังเกตให้ดี จะเห็นว่า ไม่ได้มีส่วนใดในภาพเบลอเลย
ภาพนี้ก็โฟกัสไปที่เจดีย์สีทองเหมือนกัน
จะเห็นว่า เจดีย์ด้านหลังก็ยังชัดอยู่เลย
ภาพนี้ ตั้งใจถ่ายให้เห็นว่า มียักษ์ยืนเรียงกันอยู่ ลึกไปด้านใน
ยักษ์ที่อยู่ด้านในก็ยังชัดอยู่ค่ะ
ภาพยักษ์อีก แต่คราวนี้ เก้าถ่ายแนวตั้ง เพราะเก้ารู้สึกว่าองค์ประกอบ ณ เวลานั้น มุมนั้น แนวตั้งสวยกว่าแนวนอน แม้ตามตำราจะบอกว่า การถ่ายภาพ Landscape ควรถ่ายแบบแนวนอนก็ตามที แต่ด้วยฟ้าที่เป็นแบบนี้ กับยักษ์สูง เก้าว่าแบบนี้สวยกว่าค่ะ (ที่พูดมานี่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับชัดลึก แต่จะบอกว่า บางอย่างเรา Apply ได้นะ แค่ให้เรารู้กฎ หรือรู้มาตรฐานก่อน แล้วเราจะปรับ จะ Creative อย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับไอเดียค่ะ กูรูถ่ายภาพเคยบอกไว้ว่า ก่อนที่คุณจะแหกกฎ คุณต้องเรียนรู้กฎซะก่อน)
สำหรับภาพนี้ ก็ยังชัดไปทั้งภาพค่ะ
จริงๆ แล้ว เก้ามีตัวอย่างของภาพชัดลึกอีกนะคะ ตัวอย่างเช่น เวลาที่ไปรีวิวอาหาร แล้วเก็บภาพบรรยากาศมา ก็ใช้การถ่ายชัดลึกเป็นการเก็บบรรยากาศร้านค่ะ เพราะอยากให้เห็นภาพรวมของร้าน ไม่เน้นอะไรออกมาโดดเด่นเกิน แต่ยังคงพระเอกของภาพอยู่
คลิกที่นี่ได้เลยค่ะ
รู้กันแล้วนะคะว่า ถ่ายชัดลึกเอาไว้ใช้ทำอะไร เมื่อไร คราวนี้มาดูชัดตื้นกันบ้างค่ะ
ชัดตื้น
จะเป็นสไตล์ภาพที่ หน้าชัดหลังเบลอ หน้าเบลอหลังชัด คือจะมีส่วนที่เรียกว่า ถูกทำให้เด่นขึ้นมาคือตัวพระเอกของภาพ อะไรที่ไม่ได้ต้องการเน้นขึ้นมาก็จะโดนละลายไป (ส่วนที่โดนละลายไปเค้าเรียกันว่า "โบเก้" หรือ Bokeh)
ใช้เมื่อไร ??
ใช้เมื่อต้องการทำให้พระเอกของภาพชัดเจน โดดเด่น ไม่กลืนไปกับสิ่งแวดล้อม หรือ Background ที่เราไม่ได้ต้องการ เช่น การถ่ายภาพ Portrait การถ่ายภาพแบบเจาะ Object ถ่ายภาพอาหาร เป็นต้น (ไม่ต้องพูดกันมาก ก็คงนึกออกอยู่แล้วเนอะ)
ค่า F เท่าไร เรียกว่า ชัดตื้น ?
เอาง่ายๆ เห็นภาพชัด ก็ F1.8, F2.8, F3.5, F4.0, F4.5, F5.0 บางที F5.0 ในบางภาพ บางองค์ประกอบ มันก็ไม่ชัดตื้นเท่าไรแล้วค่ะ (จริงๆ แล้วค่า F ที่กว้างที่สุดมันก็อยู่ที่เลนส์ด้วยนะคะ F1.2 ก็มีค่ะ แต่เก้ามีแต่เลนส์ Fix 50 มม. ค่า F กว้างสุดคือ 1.8 ค่ะ ซึ่งโดยปกติ ถ้าจะถ่ายเจาะ Object หรือถ่ายภาพที่อยากทำชัดตื้น เก้าจะใช้เลนส์ Fix เพราะว่ารู้สึกว่า มันทำละลาย ได้สวย สะใจจิตรกรน้อยอย่างเรามั๊กๆ และโดยเฉพาะถ้าเป็นเลนส์ L นะ โบเก้จะสวยกว่านี้มากค่ะ .... ชวนเสียตังค์อีกแระ -___-'')
จะว่าไป จะ Set ค่า F เท่าไรให้ได้ชัดตื้นสวยๆ มันก็อยู่ที่ประสบการณ์แล้วล่ะค่ะ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องสื่อความหมายภาพได้ถูกต้อง มาดูตัวอย่างกันดีกว่า
ภาพนี้ เก้าต้องการเน้นลูกชิ้น จึงโฟกัสไปที่ลูกชิ้น เก้าเปิดค่า F 2.8 เพื่อให้ชัดแต่ลูกชิ้น
ภาพนี้ เปิดค่า F4.5 หูววววว เยอะนะเนี่ย เก้าโฟกัสไปที่ไข่ค่ะ (คือชอบไข่มากๆ) แต่จริงๆ หมูแดงใกล้ๆ ไข่ยังชัดอยู่ หลังจากนั้นไปเบลอหมดค่ะ
จริงๆ แล้วจะว่าไปนะ ถ้าปกติงาน iLove เวลารีวิวอาหาร แบบนี้ถือว่า ชัดตื้นเกินไปค่ะ สิ่งที่ถูก คือ ควรจะชัดไปถึงหมูแดงช่วงหลังๆ ด้วย แล้วละลายต้นหอม ขอบจ้านด้านหลัง และถ้วยสีชมพูทิ้งได้
อย่างนี้ ก็เป็นประสบการณ์ที่ต้องเรียนรู้ไปว่า จานอาหารขนาดใหญ่หน่อย (ขนาดที่ว่าไม่ใช่ขนาดจานจริงๆที่เราเห็น แต่เป็นขนาดจานเวลาอยู่ในเฟรม) และเป็นมุมแบบลึกเข้าไป ต้องเปิดรูรับแสงให้แคบซักหน่อย ไม่ควรจะเบลอมากไป เพื่อความครบ
และสื่อความหมายได้เข้าใจค่ะ คือนี่ยังดีที่เป็นข้าวหมูแดงที่เราๆ ก็รู้จักกันอยู่แล้วถูกมะ แล้วถ้าเกิด เราได้มีโอกาสไป อูกันด้า ไปถ่ายภาพอาหารพื้นเมืองอูกันด้า เป็นอาหารที่ไม่รู้จัก ไม่เคยเห็น แล้วถ่ายภาพออกมาละลายเยอะไป มันก็น่าเสียดายใช่มั้ยคะ เพราะในชีวิตเราจะไปอูกันด้าอีกมั้ย อันนี้ก็ต้องถามตัวเองแล้วล่ะค่ะ
ถ้าอยากดูถ่ายเจาะภาพอาหาร ที่ iLove ได้รีวิว
คลิกที่นี่ได้เลยค่ะ
คราวนี้ เรามาเจาะ Object ที่ไม่ใช่อาหารกันบ้าง อย่างภาพนี้ เก้าเปิด F1.8 เลือกโฟกัสเศียรตรงกลาง ละลายเศียรด้านหน้าและด้านหลังทิ้งไป ซึ่งองค์ประกอบที่เก้าคิดไว้ในใจ
สำหรับภาพนี้ F1.8 เหมือนกัน ต้องการโฟกัสหน้ายักษ์สีเขียวนี้ ต้องการให้เห็นรายละเอียดบนใบหน้า เพื่อสื่อ Feeling ของยักษ์ และละลายยักษ์ และ Background ด้านหลังทิ้งไป
ภาพนี้ ก็ด้วยค่ะ F1.8 โฟกัสที่หน้ากินรี ตั้งใจละลายฉากหลัง แต่ยังอยากได้โบเก้ ต้นไม้ละลายเพื่อเอาสีเขียวไว้ ก็เลยเลือกเก็บภาพด้านนี้แทน เพราะเก้าลองหันอีกด้าน มันจะจืดๆ เกินไปค่ะ (อันนี้ก็แล้วแต่ความชอบอีกนั่นแหล่ะค่ะ)
มีอีกตัวอย่างของภาพชัดตื้นที่เก้าแอบปลื้ม และรู้สึกชอบมากๆ เป็นฝีมือของทีม iLove ผู้หนึ่งที่ไม่โผล่หน้าออกกล้อง : D
จบแล้วสำหรับชัดลึก ชัดตื้นนะคะ ลองไปฝึกกันดูนะ
Tip สำหรับชัดลึก คือ หาพระเอกของภาพก่อน แล้วค่อยถ่ายนะ เพราะถ้าไม่มีพระเอกของภาพ เกิดความเสี่ยงมากที่ภาพจะไม่สวย หรือที่เค้าเรียกกันว่า เรี่ยราดค่ะ (ซึ่งเมื่อก่อน เก้าจะทำบ่อยมาก 555 เรี่ยราดตลอดๆ) ดังนั้น ให้หาพระเอกของภาพ วางตัวพระเอกไว้ที่จุดตัดเก้าช่อง หรือใช้กฎ 3 ส่วน กั้นกรอบ นำสายตา เงาสะท้อน และอื่นๆ
Tip สำหรับชัดตื้น คือ ชัดตื้นเรามีพระเอกอยู่แล้วล่ะ แต่สิ่งสำคัญคือ พระเอกของเราต้องไม่โดนละลายมากเกินไป ชัดให้ครบเท่าที่เราจะสื่อความหมาย จะเท่าไร F เท่าไร ก็ขึ้นกับวัตถุประสงค์ของเรา
การทำชัดตื้น ไม่ได้อยู่ที่การปรับค่า F ให้กว้างๆ อย่างเดียว แต่ระยะห่างระหว่าง Object ที่เรา Focus กับ Background ก็มีผลค่ะ
ยิ่ง Background ห่างจาก Object ที่เรา Focus มากเท่าไร ก็ยิ่งเบลอ แม้จะเปิด F 4 แต่ถ้า Background ห่างจาก Object มากขึ้น ก็จะทำให้เบลอได้เหมือนเปิด F 1.8 ที่ Object อยู่ใกล้ Background
ฝึกบ่อยๆ ดูภาพเยอะๆ นะคะ พอเราเริ่มมองออก ว่าควรจะตั้งค่า F เท่าไร รับรองว่า ภาพของคุณจะออกมาเดิ้นไม่เหมือนใครแน่นอนค่ะ \^o^/