เจาะลึก ปัจจัย ชัดลึกชัดตื้น (Depth of Field หรือ DOF)
หลังจาก Content ชัดลึกชัดตื้นผ่านไป (
ดู Content ชัดลึกชัดตื้นที่นี่) คราวนี้เราลองมาดูกันถึงปัจจัยการสร้างชัดลึกชัดตื้นแบบลึกๆ กันดีกว่าค่ะ
ก่อนที่จะไปถึงการสร้างชัดลึกชัดตื้น เราลองมาดูถึงการสื่อความหมายของชัดลึกชัดตื้นกันก่อน
ชัดลึก คือ ชัดทั้งภาพ ตั้งแต่ระยะหน้าไปจนถึงระยะหลัง ชัดหมด
ชัดตื้น คือ ชัดที่ตัวแบบ ที่เหลือเบลอ แบ่งเป็น หน้าชัดหลังเบลอ, หน้าเบลอหลังชัด และ หน้าเบลอหลังเบลอตรงกลางชัด ทั้งหมดถือเป็นชัดตื้นหมด
ชัดลึกชัดตื้นมันเป็นสไตล์ภาพนะ บอกไว้ก่อน ถามว่า เราควรจะเปิดค่า F เท่าไรดี ?? จริงๆ แล้วก็ไม่ได้มีกฎตายตัวนะคะ ไม่มีตัวเลขที่ถูกต้องบอก และไม่อยากให้ไปสนใจตัวเลขมาก อยากให้เน้นที่การสื่อความหมายของภาพมากกว่า ว่าสไตล์ภาพที่เราคิดว่า ใช้ชัดลึกหรือชัดตื้นถึงจะเหมาะสม และสื่อความหมายได้ถูกต้องมากที่สุด
การใช้ชัดลึกชัดตื้นให้สื่อความหมายทำอย่างไร?
ต้องเริ่มจากการตั้งโจทย์ว่า เราต้องการสื่อสารกับคนดูภาพในมุมไหน มีเนื้อหาว่าอย่างไร จึงค่อยเลือกว่าจะใช้ชัดลึกหรือชัดตื้น เช่น ถ้าเราตั้งโจทย์ว่า เราอยากนำเสนอเรื่องราวของ "แสงไฟในเมืองในแง่มุมสวยงาม" เราก็จะเริ่มจินตนาการภาพในหัว และเลือก location ที่จะตอบโจทย์นี้ เช่น ถนนสาทร จากนั้น เราก็เลยคิดว่า แสงไฟในเมือง มันก็ต้องเห็นแสงชัด ตึกชัด ระยิบระยับสิ เพราะถ้าเห็นตึกไม่ชัด ก็ไม่รู้ว่าอยู่ในเมืองสิ ดังนั้นต้องใช้สไตล์ภาพชัดลึก
ถ้าเราโจทย์เราต้องการสื่อว่า "ความน่ารักและสดใสของสัตว์" เราก็จะเริ่มจินตนาการภาพในหัวอีกเหมือนเดิม และ ทำการเลือก location ที่จะตอบโจทย์นี้ เช่น สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จากนั้น เราก็คิดว่า ความน่ารักของและสดใสสัตว์มันต้องเห็นสัตว์ชัดๆ สิ เห็นสีสดๆ ใสๆ สวยๆ สิ่งที่ไม่เกี่ยวก็ไม่ต้องชัดสิ เพราะจะถ่ายความน่ารักสดใสของสัตว์ เราก็เลยเลือกใช้สไตล์ภาพชัดตื้น ที่เห็นสัตว์ชัด แล้วเบลอสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป ซึ่งในภาพ สิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องคือฉากหลังของนกที่เป็นป้ายโฆษณา เราก็เลยทำการละลายทิ้งให้สีมันผสมไปมาอย่างที่เห็น ที่สำคัญ เบลอทิ้งแล้วต้องดูไม่ออกว่าฉากหลังมันเป็นป้ายโฆษณานะ
โอเค เรื่องการสื่อความหมายด้วยชัดลึกชัดตื้นก็ประมาณนั้น มาต่อกันด้วยปัจจัยที่ทำให้เกิดชัดลึกและชัดตื้นดีกว่า
ปัจจัยหลักๆ ของชัดลึกชัดตื้นคือ
1. ค่ารูรับแสง
2. ระยะห่างระหว่างแบบกับปลายเลนส์
3. ทางยาวโฟกัส
ทีนี้เราจะมาลองค่อยๆ ทดสอบทีละปัจจัยดีกว่าว่า ปรับอะไรได้อะไรค่ะ
เริ่มจากการปรับค่า
รูรับแสง เป็นอันดับแรก
รูรับแสงกว้าง (F น้อยๆ) จะเกิดชัดตื้น
รูรับแสงแคบ (F เยอะๆ) จะเกิดชัดลึก
การทดสอบนี้ใช้เลนส์ 50 ที่ระยะห่างระหว่างปลายเลนส์กับตัวแบบเท่ากัน
ปรับรูรับแสงกว้างที่ F1.8 จะเห็นว่าเกิดชัดตื้นขึ้น
ในทางยาวโฟกัสเท่าเดิมคือ 50mm และระยะห่างระหว่างปลายเลนส์กับตัวแบบเท่าเดิม
ปรับรูรับแสงแคบที่ F22 จะได้ภาพชัดลึก
มาถึงปัจจัยที่ 2
ระยะห่างระหว่างปลายเลนส์กับแบบ
ใช้เลนส์ 18-55 ถ่ายที่ทางยาวโฟกัส 55mm F5.6 แต่เอาปลายเลนส์ไปใกล้แบบ ได้ภาพที่ดูชัดตื้น
ที่ทางยาวโฟกัสเท่าเดิม ค่า F เท่าเดิม เดินออกห่างจากแบบ ได้ภาพที่ดูชัดลึก
ลองซูมภาพเข้าไปดูจะเห็นได้ว่า ป้ายชัด
เปรียบเทียบกันระหว่างทางยาวโฟกัส 55 เท่ากัน F5.6 เท่ากัน
แค่เลนส์อยู่ใกล้แบบหรือไกลแบบ ก็ทำให้เกิดชัดลึกชัดตื้นที่ต่างกัน
มาถึงปัจจัยที่ 3 คือ
ทางยาวโฟกัสของเลนส์
ทดสอบด้วยเลนส์ 70-200 รูรับแสง F4 ยืนอยู่ใกล้ตัวแบบเท่ากัน ภาพนี้ซูมที่ 200mm จะเห็นว่าได้ภาพชัดตื้น
ที่รูรับแสง F4 ยืนอยู่ใกล้ตัวแบบเท่ากัน แต่ถ่ายที่ทางยาวโฟกัส 70mm ภาพที่ได้จะเกิดชัดลึกกว่า 200mm
ลองเอามาเปรียบเทียบกัน สังเกตุว่า พอซูมภาพที่ทางยาวโฟกัส 70mm เข้าไปให้ตัวแบบใหญ่เท่ากับที่ถ่ายด้วยทางยาวโฟกัส 200mm ที่ทางยาวโฟกัส 70mm จะเกิดชัดลึกกว่า ส่วนที่ทางยาวโฟกัส 200mm จะเกิดชัดตื้น
จากการทดสอบก็ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับปัจจัยชัดลึกชัดตื้นดังนี้
1. รูรับแสง ถ้าค่ารูรับแสง
กว้าง (F น้อยๆ) จะได้ภาพ
ชัดตื้น ถ้าค่ารูรับแสง
แคบ (F เยอะๆ) จะได้ภาพ
ชัดลึก
2. ระยะห่างจากปลายเลนส์กับแบบ ถ้าเอา
เลนส์เข้าใกล้ตัวแบบ จะได้
ชัดตื้น แค่ถ้าเอา
เลนส์ออกห่างตัวแบบ จะได้
ชัดลึก
3. ทางยาวโฟกัสของเลนส์ ถ้าใช้
ทางยาวโฟกัสมากๆ จะได้
ชัดตื้น ถ้าใช้
ทางยาวโฟกัสน้อยๆ จะได้
ชัดลึก
ถ้าพูดสั้นๆ จำง่ายๆ ...
เคล็ดวิชา "3 กระบวนท่าชัดลึกชัดตื้น"
-
F น้อยชัดตื้น
F มากชัดลึก
-
ใกล้แบบชัดตื้น
ไกลแบบชัดลึก
-
ซูมมากชัดตื้น
ซูมน้อยชัดลึก
เมื่อเราเข้าใจเคล็ดวิชาชัดลึกชัดตื้นแล้ว เราก็ลองมาทดสอบเอาทั้ง 3 กระบวนท่ามารวมกัน...
ลองทำชัดลึกสุดๆ !!!
- F มาก = ปรับที่ F8
- ไกลแบบ = ถอยออกมาไกลๆ
- ซูมน้อย = ทางยาวโฟกัส 10mm
เลนส์ที่เหมาะกับ 3 กระบวนท่านี้คือ เลนส์ Wide 10-22mm
ลองซูมเข้าไปดูจะเห็นว่าชัดลึกไปถึงข้างหลัง
ทีนี้ เรามาทดสอบโดยการตัดปัจจัยออกไปซัก 1 อย่างดู อยากรู้ว่ายังจะชัดลึกอีกหรือป่าว
*** สำหรับคนที่สงสัยว่า ทำไมต้องมาทดสอบตัดปัจจัย ต้องอธิบายไว้แบบนี้ คือ การทำชัดลึกหรือชัดตื้น ข้อจำกัดส่วนใหญ่อยู่ที่อุปกรณ์และสถานที่ เช่น บางคนไม่มีเลนส์ทางยาวโฟกัสสั้น เช่น 10-22 หรือ บางคนไม่มีเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้าง เช่น F1.8 หรือ F2.8 หรือ บางสถานที่ค่อนข้างแคบ จะถอยอีกเพื่อใช้ทางยาวโฟกัสยาวๆ ก็ไม่ได้ เป็นต้น ดังนั้น เราเลยทดสอบตัดปัจจัยบางอย่างออก เพื่อจะได้ดูว่า ถ้าไม่มีปัจจัยนั้นๆ แล้ว ยังจะสามารถทำชัดลึกชัดตื้นได้อีกหรือป่าว ***
ดังนั้นการทดสอบชัดลึกนี้ จะทดสอบตัดปัจจัยเรื่อง ทางยาวโฟกัสออกไป เพราะบางคนอาจจะไม่มีเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสสั้นๆ เช่น 10-22mm
เราจะเทสกันที่ทางยาวโฟกัส 200mm ว่าจะยังทำชัดลึกได้อยู่หรือป่าว
ปัจจัยชัดลึก
- F มาก = ปรับที่ F16
- ไกลแบบ = ถอยออกมาไกลๆ
-
ซูมน้อย = ทางยาวโฟกัส 10mm ซูมมาก = ซูมไปที่ 200mm
ถ้าให้ตัวแบบใหญ่เท่าๆกับภาพด้านบนที่ถ่ายด้วย 10-22 ได้ภาพประมาณนี้
ลองซูมดู จะเห็นได้ว่าก็ชัดลึกระดับนึง
ลองเปรียบเทียบระหว่างภาพแรกที่ใช้ทางยาวโฟกัสสั้นๆ กับทางยาวโฟกัสยาวๆ จะเห็นว่าได้ชัดลึกระดับนึงเลย
คราวนี้มาถึงการทดสอบที่หลายๆ คนชอบ คือ ชัดตื้น (เป็นเหมือนกันหรือป่าว ที่เปลี่ยนจากกล้อง compact มาเป็น DSLR เพราะอยากถ่ายชัดตื้นได้ อิอิ)
ลองทำชัดตื้นสุดๆ !!!
- F น้อย = ปรับที่ F2.8
- ใกล้แบบ = เข้าไปใกล้แบบมากที่สุดเท่าที่ทำได้
- ซูมมาก = ทางยาวโฟกัส 100mm
เลนส์ที่เหมาะกับ 3 กระบวนท่านี้คือ เลนส์ 100mm F2.8 Macro (จริงๆ เลนส์ที่เหมาะกว่าคือ 70-200 F2.8L IS USM II แต่เราไม่มี...)
ทีนี้ เรามาทดสอบโดยการตัดปัจจัยออกไปซัก 1 อย่างดู อยากรู้ว่ายังจะชัดตื้นอีกหรือป่าว
ดังนั้นการทดสอบชัดตื้นนี้ จะทดสอบตัดปัจจัยเรื่อง รูรับแสงกว้างออกไป เพราะบางคนอาจจะไม่มีเลนส์ทางยาวโฟกัสยาวๆ ที่มีรูรับแสงกว้างๆ เช่น F2.8
เราจะเทสกันที่ F5.6 (เท่าๆ กับเลนส์ที่มือใหม่มักจะใช้กัน เช่น 55-250mm หรือ 18-200mm) ว่าจะยังทำชัดลึกได้อยู่หรือป่าว แต่ขอแอบเพิ่มทางยาวโฟกัสเข้าไปอีก เป็น 200mm นะ เพราะอยากให้เห็นภาพว่า ถ้าเรามีเลนส์ 55-250mm หรือ 18-200mm เราจะทำชัดตื้นได้หรือไม่ และทำได้แค่ไหน
ปัจจัยชัดตื้น
-
F น้อย = ปรับที่ F2.8 เปลี่ยนเป็น F 5.6 ซึ่งก็ถือว่าไม่น้อยเท่าไร
- ใกล้แบบ = เข้าไปใกล้แบบมากที่สุดเท่าที่ทำได้
- ซูมมาก = ทางยาวโฟกัส
100mm ขอเพิ่มไปเป็น 200mm เลย
ถ่ายมาแล้วได้ภาพแบบนี้
มาเปรียบเทียบกันระหว่าง F2.8 ที่ทางยาวโฟกัส 100mm กับ F5.6 ที่ทางยาวโฟกัส 200mm จะเห็นได้ว่า ชัดตื้นเกือบจะไม่ต่างกันเลยทั้งๆ ที่ใช้ F5.6 (แต่ต้องยอมรับว่า F2.8 มันละลายสะใจกว่านิดหน่อย แต่ที่ F5.6 ก็ไม่ได้ขี้เหร่นะ)
จากการทดสอบทั้งหมด ที่ทำขึ้นมาก็เพื่อทดสอบให้เห็นว่า
ถึงอุปกรณ์เราไม่พร้อม ไม่มีเลนส์ราคาแพงๆ F กว้างๆ หรือ สถานที่ที่เราไปมีข้อจำกัดต่างๆ นาๆ แคบบ้าง ถอยไปแล้วตกเหวบ้างอะไรบ้าง แต่เราก็สามารถใช้ปัจจัยอื่นๆ สร้างสไตล์ภาพชัดลึกหรือว่าชัดตื้นได้เหมือนกันนะ
ฝากไว้ว่า เลนส์ดีๆ มันก็แค่ทำให้จินตนาการของเราเป็นจริงได้ง่ายขึ้นเท่านั้น ถ้าเรายังไม่พร้อมจะลงทุนเพื่อความสะดวกสบาย เราก็ใช้ความรู้ที่มี สร้างสไตล์ภาพตามจินตนาการของเราได้เหมือนกัน ขอให้มีความสุขและสนุกกับการทำให้จินตนาการเป็นจริงนะคะ