สินค้าที่เลือกมีหลายสเปค/สี/ราคา โปรดเลือกจากรายการด้านล่างแล้วคลิกปุ่ม "ใส่ตะกร้าสินค้า"

Basic การถ่ายภาพ

สอนตากล้องมือใหม่ถ่ายรูป

วันนี้จะมาพูดถึงเรื่อง Pretty ซึ่งโดยปกติเราก็จะเห็นเค้าเป็นแบบให้เราถ่ายรูปกัน

แต่... ถ้าบอกว่า วันนี้ เราจะให้น้อง Pretty มาใช้กล้อง DSLR ถ่ายรูปหละ แล้วถ้าเรารู้ลึกไปกว่านั้นว่า เค้าใช้โหมด M ถ่ายรูปหละ!!!

เราจะมาสอนมือใหม่อย่างน้องพริตตี้ให้ใช้กล้อง DSLR ถ่ายรูปด้วยโหมด M กันนะจ๊ะ ดูว่าเค้าจะทำได้ไหม?




น้องพริตตี้ที่เราติดต่อไปชื่อน้องนุ๊กกี้จ้า

วันนี้เราจะให้น้องนุ๊กกี้มาถ่ายรูปด้วยกล้อง DSLR กัน และแน่นอน ใช้โหมด M! และเราจะให้น้องเค้าไปถ่ายบรรดา พริตตี้ ในงานนะจ๊ะ



เริ่ม Basic การถ่ายรูปกันก่อน ก่อนจะไปที่เรื่อง setting กล้อง เราต้องจับกล้องให้มั่นคงซะก่อน ท่วงท่าก็ตามนี้เลย
มือขวาจับกริ๊บ มือซ้ายประคองเลนส์



ต่อจากการถือกล้องให้เป็น ก็เป็นเรื่องของสไตล์ภาพ

สไตล์ภาพจะมี 2 แบบ คือ สไตล์ชัดตื้น และ สไตล์ชัดลึก



ภาพชัดตื้นจะเป็นแบบนี้ คือ หลังเบลอๆ หรืออาจจะมีระยะหน้าเบลอๆด้วยก็ได้



ภาพชัดลึกจะเป็นแบบนี้ คือชัดทั้งภาพ ไม่มีหลังเบลอ หรือ หน้าเบลอ



โดยตัวหลักๆที่กำหนดสไตล์ชัดลึกชัดตื้นคือค่า F หรือ ค่ารูรับแสงนั่นเอง



ค่า F น้อย จะได้ภาพสไตล์ชัดตื้น



ค่า F มาก จะได้ภาพสไตล์ชัดลึก



หรือจำง่ายๆว่า F น้อย = ชัดน้อย



F มาก = ชัดมาก



ลองปรับรูรับแสงเทียบกันระหว่าง F2.8 กับ F8 จะเห็นว่า background ของภาพที่ใช้ F8 จะชัดกว่าภาพที่ใช้ F2.8



สิ่งสำคัญอีกอย่างของการถ่ายภาพคือ "ตัวแบบต้องไม่เบลอ"



เข้าใจง่ายๆเลยว่า ภาพเบลอ = ภาพเสีย จบปะ!



อะไรที่จะทำให้ภาพไม่เบลอ?
Speed Shutter ที่เร็วพอจ้าาาาา



แล้ว Speed Shutter เท่าไรหละ?
สูตรง่ายๆ speed shutter 1/ทางยาวโฟกัส

เช่น ถ้าคุณใช้เลนส์ซูม ซูมที่ทางยาวโฟกัส 70mm คุณก็ต้องใช้ speed shutter ไม่น้อยกว่า 1/70 หรือ ถ้าคุณใช้เลนส์ 50mm คุณก็ต้องใช้ speed shutter ไม่น้อยกว่า 1/50



ลองทดสอบดู อันนี้ใช้ทางยาวโฟกัส 70mm แต่ใช้ speed shutter 1/40
เห็นไหมว่าภาพจะเบลอจากการสั่นไหวของมือเรา



แต่พอเพิ่ม speed shutter เป็น 1/100 (พูดง่ายๆว่า 1/70 ขึ้นไป) ภาพคมชัดสวยงาม ไม่เบลอจากมือสั่นเลยหละ



เอามาเทียบกันให้เห็นจะๆ



พอเรา set ค่า F กับ ค่า Speed shutter แล้ว ก็ถึงเวลาต้องมาวัดแสงกันแล้วหละ เพื่อให้ได้ภาพที่สว่างสมจริง

เราจะใช้สิ่งมหัศจรรย์แห่งการวัดแสง นั่นคือ Live View นั่นเองจ้าาาา



เอาหละ เปิด Live View ขึ้นมาดูกันว่า ภาพที่เรา set ค่า F และ speed shutter แล้วอะ มันสว่างไป หรือ มืดเกินไปกว่าที่ตาเราเห็นหรือป่าว

ถ้ามืดเกินไป เราจะแก้ด้วยการดัน ISO ขึ้น
ส่วนถ้าสว่างไป เราต้องดูว่าเราลด ISO เหลือ 100 แล้วหรือยัง ถ้าลดแล้ว ก็หันไปเพิ่ม Speed shutter นะจ๊ะ



ISO ยิ่งมาก ภาพก็ยิ่งสว่าง ยิ่งน้อย ภาพก็ยิ่งมืด



แล้วองค์ประกอบหละ?
เราจะใช้จุดตัดเก้าช่องเนี่ยแหละ ก็แค่เอาหน้าแบบไปวางไว้ที่จุดตัดเท่านั้นเอง เรียบง่ายสุดๆ



ต่อมา เรื่องที่ยากขึ้นไปอีก
ถ้าสมมุติตัวแบบของเราไปอยู่ใต้ไฟ down light หรือ ย้อนแสง หน้ามืด เราจะแก้ปัญหาด้วยอะไร...

เราจะแก้ด้วย Flash... แฟลชจะช่วยเติมแสงให้ตัวแบบที่หน้ามืดของเรา หน้าสว่างขึ้น
และ Flash ก็ยังเป็นโหมด Manual นะจ๊ะ



เริ่มต้นต้องลองถ่ายแบบไม่เปิด Flash ดูก่อน วัดแสงให้ได้ฉากหลังพอดี แล้วถ่ายดู
ถ้าฉากหลังพอดีแล้ว แต่ตัวแบบของเราหน้ามืด เราถึงจะยิงแฟลช

จะเริ่มที่ค่าเท่าไรกันหละ?
ง่ายๆเลย 1/32 ลองถ่ายแล้วมาดูผลลัพธ์กันว่าหน้าแบบสว่างเป็นที่พอใจหรือยังนะจ๊ะ



ถ้ายังสว่างไม่พอ ก็เพิ่มพลังแฟลชเข้าไปเป็น 1/16 หรือ 1/8
แต่ถ้า 1/32 ดูสว่างเวอร์เกินไป ก็ลดเหลือ 1/64 ก็ได้





คำเตือน!
การวัดแสงด้วย Live View จะต้องปิดแฟลชก่อนนะจ๊ะ ไม่งั้นไม่เห็นว่าค่าที่ตั้งเอาไว้มันได้ความสว่างพอดีหรือยัง (อันนี้เป็นเฉพาะกล้อง canon หรือป่าวก็ไม่รู้นะ)




เรื่องต่อไป... Character ของ เลนส์



เลนส์ Wide หรือ เลนส์มุมกว้าง effect คือ ได้มุมกว้างๆ เก็บฉากหลังได้เยอะ ของรอบๆตัวแบบจะติดเข้ามาในภาพได้เยอะ



เลนส์ Tele หรือเลนส์ทางยาวโฟกัสยาวๆ effect ที่ได้คือจะได้มุมแคบๆ ของรอบๆตัวแบบไม่ค่อยจะติดเข้ามาในภาพ



สุดท้าย... ถ่ายให้ได้เยอะๆ ขยันหามุมเยอะๆ จะทำให้เราได้ภาพสวยๆนะจ๊ะ



Challenge สำหรับน้องนุ๊กกี้คือ...



เราต้องการ 6 ภาพ 6 สไตล์นะจ๊ะ น้องต้องใช้ความรู้ที่สอนไป ถ่ายให้ได้ภาพ 6 ภาพนี้จ้าาาาา



อุปกรณ์สำหรับ challenge ในครั้งนี้

กล้อง 5D mark III



เลนส์ wide 16-35F2.8L II USM



เลนส์ tele 70-200F2.8L IS II USM



เลนส์ normal 24-70 F2.8L USM



และ Flash Canon Speed Lite 600EX RT



พร้อมแล้ว ลุยกันเล้ยยยยยย



*** ภาพต่อไปนี้ที่น้องนุ๊กกี้ถ่าย เป็นภาพ JPG หลังกล้อง ไม่ได้ทำ Photoshop เพิ่มเติมเลยนะ ทำแค่ย่อภาพทำคมแค่นั้นแหละ

เลนส์มุมกว้างชัดตื้น
16mm, F2.8, 1/30, ISO 6400

ถามว่าชัดตื้นไหม? เท่าที่อุปกรณ์มันจะทำได้แหละ เลนส์ wide มันชัดตื้นได้ไม่มากอยู่แล้ว




เลนส์มุมกว้างชัดลึก
16mm, F5.6, 1/30, ISO 12800

ภาพชัดลึก น้องนุ๊กกี้ตั้งใจจะถ่ายด้วย F8 แต่ด้วยสภาพแสงใน hall ค่อนข้างมืด เลยทำให้ชัดลึกเปิดรูรับแสงได้แค่ F5.6 เท่านั้น




เลนส์ Tele ชัดตื้น
70mm, F2.8, 1/80, ISO 3200

พอเปลี่ยนมาเป็นเลนส์ Tele เปิด F กว้าง เพิ่มเก็บชัดตื้น เล่นเอาน้องนุ๊กกี้กรี๊ดกร๊าดมาก เพราะทำเบลอหลังได้สวยสะใจซะขนาดนี้ ^^ และน้องเค้าอยู่ตรงนี้นานมากๆ ค่ะ น่าจะติดใจโบเก้ตรงนี้ซะแล้วหละ



เลนส์ Tele ชัดลึก
135mm, F4.5, 1/135, ISO 12800

หนักหนามาก (ทั้งเลนส์ ทั้งสไตล์ภาพ) กับการเก็บชัดตื้นด้วยเลนส์ tele ในสถานะการณ์ที่แสงน้อยๆแบบนี้ speed ก็ต้องเร็วหน่อย F ก็ต้องไม่แคบไป ไม่งั้นมืด แต่ถ้าไม่แคบก็ไม่ได้ชัดลึก นี่ขนาด F4.5 แล้วนะ ยังต้องดัน ISO ไปถึง 12800 เลย




เลนส์ Normal ชัดตื้น
50mm, F3.5, 1/60, ISO 6400

จริงๆตั้งใจเก็บชัดตื้นด้วย F2.8 แต่มือน้องนุ๊กกี้คงลื่นไปโดนปุ่มวงล้อ ทำให้ค่า F กลายเป็น F3.5 แต่ก็โอแหละ ก็ชัดตื้นอยู่นะ



เลนส์ Normal ชัดลึก
50mm, F5.6, 1/60, ISO 12800

อะนะ อย่างที่รู้กันว่าในนี้แสงน้อยมาก ถึงอยากได้ F8 เพื่อทำชัดลึก ก็ทำไม่ได้ เพราะขนาด F5.6 ยังต้องดัน ISO ขึ้นไป 12800 เลย ก็ลึกที่สุดเท่าที่สภาพแสงจะอำนวยนะจ๊ะ



มาดูกันเรื่อง Flash กันบ้าง...

น้องนุ๊กกี้ก็ทำได้ดีเลยหละ คือลองวัดแสงให้ฉากหลังพอดีก่อนแล้วถ่ายดู จะเห็นว่า หน้าน้องพริตตี้ค่อนข้างเป็นเงามืด



เลยทดลองเติมแฟลชเข้าไป 1/32 แล้วถ่ายดู ถ้าพอดีก็โอเคเลยที่ 1/32 นะจ๊ะ



มุมนี้ก็เหมือนกัน ถ่ายมาแล้วมืด



เลยต้องเติมแสงแฟลชเข้าไป



จบแล้ว...
หวังว่า content นี้จะทำให้มือใหม่ได้เข้าใจการถ่ายรูปและการควบคุมกล้องแบบง่ายๆ ได้ภาพอย่างใจ ถ่ายแล้วไม่เสียนะจ๊ะ

ขอบคุณน้องนุ๊กกี้ด้วยนะจ๊ะ ขอบอกว่าน้องนุ๊กกี้ มีความอดทน และมุ่งมั่นมากๆ มือใหม่ที่แทบจะไม่ได้จับ DSLR เลย แต่ต้องมาถือกล้อง Full Frame ที่ติดเลนส์หนักๆ อย่าง 70-200 F2.8 เข้าไป และถือนานขนาดนี้ ไม่บ่นซักแอะเลยค่ะ ขอชมเชยมากมาย
ติดตาม Facebook ของน้องเค้าได้ที่นี่จ้า https://www.facebook.com/pj.nukkie
สินค้าแนะนำ
x

ตะกร้าสินค้า

ไม่พบสินค้าในตะกร้า