CPL Filter ใช้เมื่อไหร่
Photo Corner วันนี้มาพูดถึงเรื่องของการใช้ CPL ค่ะ
มาทำความรู้จักกันก่อนว่า
CPL คืออะไร มันก็คือ
Circular Polarized ซึ่งมันคือ
ฟิลเตอร์ (Filter) ชนิดหนึ่งค่ะ ฟิลเตอร์จะมีหลายแบบมากๆ พวก ฟิลเตอร์เปลี่ยนสี ท้องฟ้า เป็นสีฟ้าบ้าง ส้มบ้างแล้วแต่ หรือพวก Protector ทั้งแบบ UV และไม่ UV เคลือบ Multi coat มากหรือน้อย
เอางี้ดีกว่าค่ะ ขอพูดเรื่องฟิลเตอร์นิดหน่อยแล้วกันนะคะ เอาแบบที่จะใช้งานกันจริงๆ ในช่วงมือใหม่เริ่มต้น
เก้าจะแนะนำว่า ถ้าเมื่อไรไปซื้อเลนส์ แนะนำให้ซื้อ Protector ติดเลนส์ด้วยค่ะ มันจะช่วยป้องกันหน้าเลนส์แสนรักของเรา ไม่ให้โดนขีดข่วนได้ง่ายนัก เพราะบางทีเราถ่ายรูปไป มันก็เพลิน บางทีลืมระวัง เลนส์แสนแพงของเราก็จะมีรอย เวลาถ่ายรูปออกมา รอยนั้นมันก็ติดมาในภาพด้วย
ที่นี้ มันก็จะมีทั้งแบบแพง และแบบถูก เราจะเลือกแบบไหน ในมุมมองเก้า คิดว่า เลนส์แพง ก็เลือก Filter แพง เลนส์ถูก ก็เลือก Filter ถูกค่ะ เราอุตส่าห์ลงทุนเลนส์ขนาดนี้ เราจะเอาของถูกมา Protect เลนส์แสนแพงของเราหรอ ??
อย่างเลนส์ Canon 10-22 ที่ทีม iLove ใช้ ราคา 2 หมื่นกว่าบาท เก้ายอมลงทุน ติด Canon UV Protector ราคา 2 พันกว่าบาทไปเลย จริงๆ แล้วถูกกว่านี้ก็มีค่ะ ยี่ห้ออื่น ที่ไม่ใช่ Canon เคยได้รับคำแนะนำมาเหมือนกันว่า ถ้าเราเลือกของถูก ใช้ไปเรื่อยๆ Filter ถูกจะเกิดรอยง่าย ภาพที่ถ่ายได้จะมัวๆ ไม่สดใสอย่างที่หวังไว้
อย่างเลนส์ Canon Fix 50 F1.8 ที่ทีม iLove ใช้ ราคา 3 พันกว่าบาท ก็รู้สึกว่ามันไม่ได้แพงมาก ก็เลยเลือก Protector ที่ราคาถูกหน่อย เก้าเลือก Marumi Protector เคลือบ Multi Coat 1 ชั้น ราคา 2 ร้อยกว่าบาท (แต่ก็แอบถนอมเยอะๆ ตอนนี้ ก็ยังใช้งานได้ดีไม่มีปัญหาค่ะ)
สงสัยมั้ยว่า Multi coat ดียังไง ?? Multi coat ช่วยทำให้ตัว กระจก Protector หนาขึ้น เป็นรอยได้ยาก ยิ่งหลายชิ้น ก็ยิ่งหนา ยิ่งเป็นรอยได้ยากขึ้นไปอีก และ ช่วยลดแสงแฟร ราคาก็แพงขึ้นไปตามชั้นของ Coat นั่นแหล่ะค่ะ และนอกจากนี้ หน้าเลนส์ยิ่งกว้าง ราคาของฟิลเตอร์ ก็ยิ่งแพงขึ้นด้วยค่ะ
พอละ.... กลับมาที่ CPL ของเรากันดีกว่า
เก้าเลือก Marumi CPL หน้าเลนส์สำหรับ 10-22 คือ 77 mm ราคา 2 พันกว่าบาท พระเจ้า!! เป็นแค่ Marumi ยังตั้ง 2 พันกว่าบาท ถ้าเป็นพวก โฮย่า (Hoya) จะเท่าไรหนอ -"- เก้าเลือกเอายี่ห้อถูกหน่อย เพราะไม่ได้ใช้มันเป็น Protector ที่ติดกับเลนส์เราตลอดไป เพราะเรามี Canon UV Protector ที่จะใส่ติดเลนส์ไว้เลยอยู่แล้ว
จะหยิบ CPL ตัวนี้มาใช้ก็ต่อเมื่อ ต้องการตัดเงาสะท้อน และเพิ่มความฟ้าให้ท้องฟ้าค่ะ เย่ๆๆๆๆ เข้าเรื่องซะที.......
มาดูกันชัดๆ ดีกว่าค่ะว่า ลักษณะของ CPL มันเป็นแบบนี้
สังเกตว่า ตัวกระจกสีมันเข้มขึ้นมา กว่า Protector ธรรมดาที่เป็นกระจกใส ข้อดีของ CPL ก็อย่างที่บอก ช่วยตัดเงาสะท้อน และเพิ่มความฟ้าให้ท้องฟ้า
วิธีการใช้งาน คือ ก็
หมุนติดเข้าไปที่ปลายเลนส์ได้เลย ค่ะ แต่
อย่าติดซ้อนทับกับ protector นะคะ ไม่งั้นภาพถ่ายที่ได้ จะมีขอบวงกลมดำๆ
ขอบแบบนี้อ่ะค่ะ แต่ถ้าใครอยากได้สไตล์ภาพแหวกแนว ประมาณว่าอารมณ์ส่องกล้องแอบมองข้างบ้าน ก็ไม่ว่ากันค่ะ 555 ^o^
มาเริ่มใช้ CPL เพื่อตัดเงาสะท้อนน้ำกันก่อนนะคะ จากภาพนี้ เก้าไม่ใช่ CPL จะเห็นว่า น้ำมันเป็นสีน้ำตาล ที่มีสีขาวเงาสะท้อนจากเมฆบนท้องฟ้ามาปน อ่ะ อย่างถ้าไปไต้หวัน ทะเลสาบที่ซันมูนเลค มันสีเขียวมรกตสวยงาม แต่ภาพถ่ายของเรากลับมีสีขาวปน ทำให้เห็นเขียวมรกตไม่ชัดง่ะ เสียดายนะ
พอใส่ CPL เข้าไปปุ๊ป จะเห็นว่า สีขาวๆ บนพื้นน้ำหายไป เหลือไว้แต่สีของน้ำจริงๆ แต่
สิ่งสำคัญคือ ใส่ CPL ปุ๊ป ไม่ใช่ว่าถ่ายเลยนะคะ ต้องหมุนตรงปลาย CPL เพื่อหาว่าจุดไหนนะ ที่มันตัดเงาสะท้อนได้ (นึกภาพไม่ออก ลองดูในวีดีโอค่ะ)
พอเราตัดเงาสะท้อนได้แล้ว เวลาเอาภาพมาปรับ Level ใน Photoshop มันก็จะมีสีสันมากขึ้นค่ะ ลองคิดดูนะ ถ้าน้ำเป็นสีเขียวมรกตน่ะ จะสวยขนาดไหนน๊ออออ ^^
ในเมื่อมันตัดเงาสะท้อนน้ำได้ แสดงว่ามันสามารถตัดเงาสะท้อนกระจกได้ด้วยถูกมะ ก็ใช้วิธีเดียวกันค่ะ ต้องหมุนหาด้วยว่าจุดไหนที่มันตัดเงาสะท้อนได้
มันตัดเงาสะท้อนได้ระดับหนึ่งเลยนะคะเนี่ย
เวลาเอาภาพมาปรับ Level มันก็ชัดขึ้นไปอีกค่ะ เห็นสีสันชัดเจน
แล้วถ้าเรานำภาพที่ไม่ได้ใส่ CPL มา ปรับ Level ให้ภาพละ จะได้อะไร ดูเลยค่ะ มันก็ยังเห็นเงาสะท้อนอยู่ดี ค่อนข้างกวนสายตา
ได้รู้วิธีการตัดเงาสะท้อนไปแล้ว คราวนี้ มันมี
อีก 1 อย่างที่ CPL มันช่วยคือ มันจะช่วยเพิ่มความฟ้า ให้กับท้องฟ้าได้ ค่ะ อย่างตัวอย่างภาพนี้ ..... ล้อเล่นค่ะ .... ฟ้าดำเชียว.... -____- คือกำลังจะพูดเรื่อง CPL ช่วยให้ท้องฟ้ามีสีฟ้ามากขึ้น เมฆดำก็ลอยมาเลย ไม่ได้ดำธรรมดา ดำมาแบบจัดหนักเลย ดูน่ากลัว แต่ดูอีกที ก็สวยไปอีกแบบ อยากเก็บภาพมาเยอะๆ แต่ฝนตกค่ะ ต้องกลับบ้านก่อนแล้ว เลยต้องไปหาที่ใหม่เพื่อให้เห็นตัวอย่างชัดเจน
หนีมานี่เลย เขาเขียวค่ะ ฟ้าใสมากขอบอก อ่ะ งั้นเราก็พูดเรื่องนี้ได้แล้วสินะ
วิธีใช้งาน เราทำเหมือนตัดเงาสะท้อนเลยค่ะ คือเราต้องหมุนหาว่าจุดไหนนะ ที่มันทำให้ฟ้า ฟ้าขึ้น หมุนที่ปลาย CPL ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอ
สังเกตว่า ความขาวๆ ของภาพมันลดลง มันเหมือนเผยความฟ้าของฟ้ามากขึ้นค่ะ
พอเราเอาภาพที่ใส่ CPL มา Process สี มันก็เลยสดใสแบบนี้แหล่ะค่ะ
แล้วถ้าเรานำภาพที่ไม่ใส่ CPL มาปรับ Level ให้ภาพ สีของฟ้า ก็ยังไม่ใสเท่ากับที่ใส่เลยนะคะว่ามะ (คือถ้าดูแบบนี้ บางคนก็อาจจะรู้สึกว่า ก็โอเคนะ แบบนี้ฉันก็พอใจแล้ว มันดูดีอยู่เพราะว่าวันนี้ฟ้าเปิดค่ะ แต่ถ้าวันฟ้าไม่เปิด มันจะไม่ฟ้าขนาดนี้)
แต่ถ้าเราไม่มี CPL ล่ะ ทำไงดี ?? มันมีวิธีค่ะ ฮู่เร่ \^o^/
เพื่อให้ได้ภาพ ท้องฟ้าเป็นสีฟ้า เวลาถ่ายภาพ เราต้องหาก่อนว่า พระอาทิตย์อยู่ทิศไหน พอเราเจอพระอาทิตย์แล้ว หันหลังให้พระอาทิตย์เลยค่ะ ทิศนั้นอ่ะ จะได้ฟ้าเป็นสีฟ้า
เพื่อความเป๊ะ ชัดเจน มันก็มีวิธีอีกค่ะ คือ ออกมายืนกลางแดดก่อนนะ ยืดแขนออกมาข้างหนึ่ง (ข้างไหนก็ได้) ยืดนิ้วโป้ง กับนี้วชี้ พับนิ้วที่เหลือไว้ (เหมือนเวลาจะทำเท่ห์อ่ะ อย่างงั้นแหล่ะ) เสร็จแล้วเราก็หมุนตัวทั้งๆ ที่ยืดแขนอยู่ แล้วให้ดูที่นิ้วชี้ ถ้าเงาของนิ้วโป้ง ตกกระทบที่นิ้วชี้พอดี และนิ้วชี้ ชี้ไปทางทิศไหน ก็ให้หันกล้องไปทางทิศนั้นเลยค่ะ (งงรูป ก็ดูวีดีโอก็ได้นะคะ)
นี่คือภาพที่ได้จากการหันทิศที่ตรงกันข้ามกับพระอาทิตย์ค่ะ
แล้วนำรูปไป Process สีต่อใน Photoshop แจ่มมั้ยละคะ ^^
ก็สงสัยนะ แล้วถ้าหันทิศอื่นละ ที่ไม่ตรงข้ามเป็นยังไง ตามภาพนี้เลยค่ะ เป็นทิศที่ไม่ตรงข้าม มันจะมีความขาวๆ มาปนในภาพ (เนื่องแสงจ้าของพระอาทิตย์ มันเข้ามาในกล้องอ่ะค่ะ)
ลองนำภาพที่หันผิดทิศมาลอง ปรับ Level + Saturation ให้ภาพ มันก็ไม่ฟ้าเท่าที่ควรจะเป็นค่ะ
เห็นประโยชน์ของ CPL แล้วใช่มั้ยคะ อย่างน้อย ในวันที่ฟ้าไม่ไม่ฟ้ามาก เราใช้ CPL ช่วยเพิ่มความฟ้าได้บ้าง และนำภาพไป Process สีต่อใน Photoshop เราก็จะได้ท้องฟ้าสีฟ้าได้มากขึ้น แล้วได้ภาพที่สวยขึ้นมันก็คุ้มนะคะ
ข้อควรระวัง :
- เวลาที่เราติด CPL Speed Shutter จะลด อาจได้ภาพเบลอไม่รู้ตัว
- การหมุนหาจุดตัดเงาสะท้อน หรือหมุนหาจุดที่ทำให้ฟ้าเป็นสีฟ้า อาจจะดูยากหน่อย มันไม่ได้ต่างกันมากมายนัก แต่เวลานำภาพไปจัดการต่อใน Photoshop มันเห็นค่อนข้างชัดทีเดียวค่ะ