Landscape 101 : ทฤษฎีสีกับการถ่ายรูปธรรมชาติ
สีเป็นสิ่งสำคัญที่มีผลกับภาพถ่ายทุกภาพ ทุกสไตล์ โดยเฉพาะภาพถ่าย Landscape หรือภาพถ่ายธรรมชาติ ที่เต็มไปด้วยสีสันจากธรรมชาติมากมาย การเข้าใจถึงทฤษฎีสี จะช่วยให้ช่างภาพสามารถใช้ประโยชน์ในการใช้สีต่างๆ ถ่ายภาพออกมาสวยและอิมแพคกับผู้เห็นได้อย่างมีพลัง การเข้าใจถึงทฤษฎีสีไม่เพียงมีประโยชน์ต่อการถ่ายภาพเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ในงานศิลปะอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพ การตกแต่งภายใน งานกราฟฟิคดีไซน์ ทฤษฎีสีจึงจำเป็นสำหรับการสร้างสรรค์ผลงานศิลป์ทุกแขนง การศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีสีไม่ใช่เรื่องเข้าใจยากอย่างที่คิด พื้นฐานของมันมาจากวงล้อสีที่เราได้เรียนมาตั้งแต่ชั้นประถม ที่เราจะอธิบายต่อไปให้เข้าใจง่ายที่สุดสำหรับคนที่อาจจะลืมกันไปแล้ว 5555 วงล้อสีจะช่วยทำให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ของสีต่างๆ ในการถ่ายภาพธรรมชาติได้เป็นอย่างดี #ColorTheory #LandscapePhotography #NaturePhotography
แม่สี (Primary Colors)
สีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงิน เป็นแม่สี เป็นสีบริสุทธิ์ที่ไม่ได้เกิดจากผสมกันของสีใดๆ
สีรอง (Secondary Colors)
เกิดจากการผสมของแม่สี 2 สีในปริมาณที่เท่ากัน
🟧 สีส้มเกิดจากสีแดงผสมกับสีเหลือง
🟩 สีเขียวเกิดจากสีน้ำเงินผสมสีเหลือง
🟪 สีม่วงเกิดจากสีแดงผสมสีน้ำเงิน
สีกลาง (Tertiary Colors)
เกิดจากการผสมกันของแม่สี (Primary Colors) และ สีรอง (Secondary Colors) เช่น สีแดงผสมสีม่วงเกิดเป็นสีบานเย็น (Red-Violet), สีฟ้าผสมสีเขียวเป็นสีเขียวคราม (Terquoise)
ใครจินตนาการไม่ออกว่าสีกลางจะมีได้เยอะแค่ไหน ก็ให้นึกถึงกล่องสีไม้ 64 สีที่เราเคยใช้สมัยเรียน มันมีได้เยอะขนาดนั้นเลย
ทินท์ โทน เฉด (Tint Tone Shade)
ถ้าเรามองภาพ ภาพหนึ่ง มันจะไม่ได้มีเพียงสีทั้งสามประเภทปรากฏอยู่เท่านั้น สีแต่ละสี (Hue) ยังสามารถเกิดได้มากขึ้นจากการเติม 3 สีบริสุทธ์เข้าไป ซึ่งสามสีบริสุทธ์ที่ว่าก็คือ สีขาว สีเทา และสีดำนั้นเอง
⚪การเติมสีขาวเข้าไปเรียกว่า ทินท์ (Tint)
🔘การเติมสีเทาเข้าไปเรียกว่า โทน (Tone)
⚫การเติมสีดำเข้าไปเรียกว่า เฉด (Shade)
ชุดสีที่คล้ายกัน (Analogous Colors)
สีที่อยู่ใกล้กันในวงล้อสี เราเรียกว่ามันเป็นสีที่คล้ายกัน มีความกลมกลืนกันเป็นอย่างดี เช่น สีแดง-สีแสด-สีส้มเป็นสีที่คล้ายกัน เช่นเดียวกับสีเขียว-สีฟ้า-สีม่วง ที่มีความกลมกลืนและสอดคล้องกัน มันจึงเป็นกลุ่มสีที่น่ามอง ให้ความรู้สึกสงบ ไม่รบกวนกับสายตาจนเกินไป ในภาพธรรมชาติชุดสีแบบนี้จะสร้างความรู้สึกผ่อนคลายและสงบสุขได้ดี
ชุดสีที่ส่งเสริมกัน (Complimentary Colors)
สีที่อยู่ตรงข้ามกันในวงล้อสี เรียกว่าเป็นสีที่ส่งเสริมกัน สีแดง-สีเขียวส่งเสริมกันและกัน เช่นเดียวกับสีเหลือง-สีม่วง หรือสีฟ้ากับสีส้ม
สีเหล่านี้ส่งเสริมกันเพราะมันไม่มีส่วนผสมของอีกสีอยู่ในตัวเลย การใช้ชุดสีนี้จะช่วยสร้างความน่าสนใจให้กับภาพได้ดียิ่งขึ้น ถ่ายออกออกมาได้สวยเพราะมันเป็นสีที่อยู่ด้วยกันแล้วดูเหมาะสมเสมอ ความต่างของสีในชุดสีนี้จึงช่วยดึงดูดสายตาได้ดี
ชุดสีสามเสา (Triadic Colors)
ชุดสีสามเสาประกอบไปด้วยสามสีที่อยู่ในระยะห่างที่เท่ากันภายในวงล้อสี ระยะห่างนั้นเกิดเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่า เช่น สีแสด สีเขียวอ่อน สีน้ำเงิน
เราใช้สามสีเหล่านี้ในการสร้างความฉูดฉาด และสดใหม่ให้กับภาพ แต่เนื่องจากชุดสีนี้หาได้ยากในธรรมชาติ ส่วนใหญ่จึงเลือกใช้ให้สีใดสีหนึ่งเป็นสีหลัก โดยมีอีกสองสีช่วยส่งเสริม
ชุดสีโทนเดียว (Monochromatic Colors)
สีโทนเดียวหรือที่เรามักเรียกว่าโมโนโครม คือสีหลัก 1 สี (Hue) รวมด้วย ทินท์, โทน และเฉดของสีนั้นๆ
หลายๆ คนเข้าใจผิดว่าโมโนโครมคือสีขาวดำ แต่จริงๆ แล้วมันคือการใช้สีเดียวที่มีหลายระดับนั้นเอง (ตามระบบสีของมันเซล)
สีรุกและสีรับ (Dominant & Recessive Colors)
สีแดงและสีส้มเป็นสีโทนร้อนเป็นสีรุก ในขณะที่สีฟ้าและเขียวเป็นสีโทนเย็น จึงเหมาะเป็นสีรับ สำหรับการถ่ายภาพธรรมชาติชุดสีนี้จะใช้ได้ดี ในการถ่ายสีที่มีความโดดเด่นบนพื้นหลังสีอ่อน อย่างเช่นในภาพตัวอย่าง สีแดงเหมาะกับการอยู่บนพื้นหลังสีอ่อนสบายตาอย่างสีฟ้า ในทางกลับกันการถ่ายต้นไม้สีเขียวบนพื้นหลังสีแดงจึงดูไปด้วยกันไม่ค่อยได้ พื้นหลังที่เป็นสีรุกมักรบกวนต่อสายตา และแย่งความสนใจไปจาก Subject หลัก จึงง่ายที่จะเกิดความขัดแย้งกันในภาพ
ภาพธรรมชาติที่ดีที่สามารถสร้างความดึงดูด มีความตื้นลึก มีชีวิตชีวา เกิดจากการเลือกใช้สีรุกและรับได้อย่างถูกต้อง
สี..การสื่ออารมณ์และการถ่ายรูปธรรมชาติ (Colors and Emotion)
สีแต่ละสีมีความหมายและการสื่ออารมณ์ที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับการเป็นสัญลักษณ์ ตัวแทน หรือสื่อถึงสิ่งต่างๆ ในแต่ละวัฒณธรรม เช่น
🔴เราให้สีแดงเป็นตัวแทนของความรัก ความลุ่มหลง อำนาจ พลังที่แรงกล้า รวมถึงความโกรธและอันตราย สีแดงเป็นสีรุกที่ดึงดูดสายตา การจะใส่สีนี้เข้าไปในภาพจะต้องดูเรื่ององค์ประกอบของภาพให้ดี ปรับเป็น Underexpose -1 เพื่อคงสีที่สด สมจริง
🟠สีส้มเป็นตัวแทนของความแข็งแรง ความคล่องแคล่ว และเป็นสีรุกเหมือนกับสีแดง เวลาถ่ายควรปรับเป็น Underexpose -1 เหมือนกัน
🟡ในขณะที่สีเหลืองให้ความรู้สึกกระปรี้กระเปร่า สดใส เป็นสีที่สว่างที่สุดในสเปกตัม เมื่อต้องถ่ายสีเหลือง บ่อยครั้งต้องปรับเป็น overexpose +1 จึงจะได้สีที่สมจริงที่สุด
🟢สีเขียวบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ และชีวิต ความสดใหม่ สีเขียวเป็นสีรับที่ให้ความรู้สึกสบายตาเวลาที่มอง เป็นสีที่เหมาะกับการเป็นพื้นหลังและโชคดีที่เราสามารถพบมันได้ง่ายในธรรมชาติทั่วไป
🔵สีฟ้าและสีน้ำเงินก็เป็นสีรับเหมือนกัน เป็นตัวแทนของความสงบสุข ความเย็น ความเด็ดเดี่ยว เป็นอีกหนึ่งสีที่นิยมใช้เป็นพื้นหลังและสามารถพบเห็นได้ง่ายในธรรมชาติ
🟣สีม่วงเป็นการผสมของสีแดงและสีน้ำเงิน สื่อความหมายถึงความภักดี การเป็นผู้นำและจิตวิญญาน ให้ความรู้สึกน่าค้นหา ลึกลับ หากต้องการถ่าย Subject ที่เป็นสีม่วง ควรปรับ underexpose -1
และที่ลืมไปไม่ได้คือสีขาวและสีดำ
⚪สีขาวเป็นสัญลักษณ์ของความหวัง ความบริสุทธิ์และเพราะมันเป็นสีที่มีความสว่างมากๆ มันจึงซึบซับสีอื่นๆ ได้ง่าย จึงมีความยากที่จะถ่ายให้โดดเด่นท่ามกลางสีอื่นๆ
⚫ในขณะที่สีดำเป็นสีรับที่ทรงพลังที่สุด การใช้สีดำเป็นพื้นหลังจะทำให้สีอื่นกลายเป็นจุดกลางความน่าสนใจไปโดยปริยาย สีดำเป็นตัวแทนของความลึกลับ สง่างามและพลัง บ่อยครั้งใช้เป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้าย ปีศาจ อันตรายและความโศกเศร้า
ทำไมต้องปรับเป็น Underexpose หรือ Overexpose?
ทำไมเราต้องปรับค่าการวัดแสงของกล้องเมื่อต้องการถ่าย subject สีใดสีหนึ่ง? อย่าลืมว่าการวัดแสงของกล้องถูกโปรแกรมให้รับการสะท้อนของแสงเป็นสีเทาไปกว่า 18 % เราจึงจำเป็นต้องปรับค่า expose เล็กน้อยเพื่อถ่ายให้ได้สีที่ถูกต้องเหมือนกับที่ตาเห็น เมื่อไรที่เราจะถ่าย Subject ที่มีสีขาว (สีสว่าง) ควรปรับ expose +1 ถ้าเป็นสีดำ (สีเข้ม) อย่างน้อยต้องปรับเป็น -1
สีต่างๆ สามารถเป็น Subject ให้กับการถ่ายรูปธรรมชาติได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับการถ่ายภาพ abstract ที่ให้ความสำคัญกับสี รูปร่าง ลวดลาย ส่วนเว้าส่วนโค้ง พื้นผิว สิ่งที่กล่าวมาเหล่านี้สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องราวได้ การเลือกใช้สีสันเป็น Subject หลักของภาพ มีความท้าทายและให้ผลลัพธ์ที่สวยงามไม่แพ้แบบ Subject อื่นๆ แน่นอน